Songkran
Lifestyle

ประเพณีภาคเหนือที่คนไทยรู้จักกันดี มีอะไรบ้าง

November 17, 2018

ประเพณีของภาคเหนือนั้น จะเกี่ยวเนื่องกับศาสนาและการดำรงชีวิต โดยเราจะมาพูดถึงประเพณีของภาคเหนือที่ทุกคนรู้จักกันดี เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้ในรายละเอียดลงไปอีกว่าคืออะไร เรียกว่าอะไรจะได้ร่วมกันสืบสานรักษาและอนุรักษ์ต่อไปด้วย งั้นเรามาดูกันว่าประเพณีของภาคเหนือที่เรารู้จักนั้นมีอะไรบ้าง

            ประเพณีสงกรานต์ ความจริงแล้วคือประเพณีของประเทศไทย ทุกจังหวัดต้องจัดกันอยู่แล้วแต่สงกรานต์ภาคเหนือนั้น เป็นประเพณีที่ทุกคนรู้จัก เพราะมีการดำเนินกิจกรรมหลายวัน และเรียกชื่อในแต่ละวันต่างกัน นั่นคือ วันที่ 13 เมษายน หรือวันสังขารล่อง ตามความเชื่อของชาวเหนือถือว่าเป็นการสิ้นสุดปี จะมีทั้งการยิงปืน จุดประทัดเพื่อไล่สิ่งไม่ดี ต้องเก็บกวาดบ้านเรือนให้สะอาดส่วนวันที่ 14 เมษายน จะเรียกว่า วันเนา ตอนเช้ามีการเตรียมอาหารและเครื่องไทยทาน และในตอนบ่ายจะมีการก่อพระเจดีย์ทราย ส่วนในวันที่ 15 เมษา เราจะเรียกกันว่า วันพญาวัน คือ วันเริ่มต้นศักราชใหม่จะมีการทำบุญถวายขันข้าว ถวายตุงและไม้ค้ำโพธิ์ที่วัด มีการสรงน้ำพระพุทธรูปและรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่

           ในวันที่ 16-17 เมษายน หรือที่เราเรียกว่า วันปากปีและวันปากเดือน  เป็นวันทำพิธีทางไสยศาสตร์  สะเดาะเคราะห์  และบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ การทำพิธีสืบชะตาจะช่วยต่ออายุให้ตนเอง ญาติพี่น้องโดยแบ่งการสืบชะตาแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ การสืบชะตาคน, การสืบชะตาบ้าน และการสืบชะตาเมือง เป็นต้น

            จะเห็นได้ว่า ประเพณีวันสงกรานต์ของชาวภาคเหนือนั้นมีความสำคัญต่อชีวิตของพวกเขาอย่างมาก ต่อมาเราจะมาพูดถึงการบรรพชาของชาวเหนือ หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า  ประเพณีปอยน้อย/บวชลูกแก้ว/แหล่ส่างลอง จะจัดภายในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม หรือเมษายน ตอนช่วงเช้าในพิธีบวชจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองและมีการแห่ลูกแก้วหรือผู้บวชที่จะแต่งเลียนแบบเจ้าชายสิทธัตถะเพราะถือคตินิยมว่าเจ้าชายสิทธัตถะได้เสด็จออกบวชจนตรัสรู้ และนิยมให้ขี่ม้า ขี่ช้าง หรือขี่คอคนเปรียบเหมือนเจ้าชายสิทธัตถะได้ขี่ม้ากัณฐกะเพื่อออกบวช

          ประเพณีปอยหลวง หรืองานบุญปอยหลวง เป็นงานบุญที่ให้ชาวบ้านได้มาร่วมทำบุญ และจัดงานทำให้เกิดความสามัคคีในการทำงาน   ช่วงเวลาจัดงานเริ่มจากเดือน 5 จนถึงเดือน 7 เหนือ(ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายนหรือเดือนพฤษภาคมของทุกปี) ระยะเวลา 3-7 วัน

            ทั้งหมดนี้ คือ ประเพณีของภาคเหนือที่คนไทยคุ้นเคยกันดี โดยอาจมีประเพณีอื่นๆที่แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นอีก ซึ่งหากคุณอยากรู้ต้องลองไปศึกษารายละเอียดดูก็แล้วกัน